เรื่องควรรู้ หากคิดจะสร้างบ้านจากตู้คอนเทนเนอร์


2019-08-29 13:55

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน : 2,232

ตู้ขนส่งสินค้า (Container) อาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการนำมาทำเป็นบ้านหรืออาคาร เหมาะสำหรับคนที่กำลังมองหาความแปลกใหม่ มองหาความคุ้มค่าและน่าสนใจ แต่กาลเวลาย่อมทำให้ของใช้แล้วแตกต่างจากของใหม่ การนำของเก่ามาใช้จึงต้องใส่ใจในรายละเอียดให้มากกว่าการสร้างใหม่ ลองมาดูกันว่ามีรายละเอียดอะไรที่ควรคำนึงถึงบ้าง

– ตู้ขนส่งสินค้าทำด้วยอะไร มีกี่ประเภท กี่ขนาด

ตู้ขนส่งสินค้ามาตรฐานจะทำด้วยเหล็กหรืออลูมิเนียม มีทั้งแบบ 1 ประตู และ 2 ประตู ที่บานประตูจะมีรายละเอียด ระบุหมายเลขตู้ น้ำหนักของสินค้าบรรจุสูงสุด แบ่งได้ 5 ประเภท

  1. Dry cargoes ใช้บรรทุกของที่มีการบรรจุหีบห่อหรือภาชนะและไม่ต้องรักษาอุณหภูมิ
  2. Refrigerator cargoes เป็นตู้ที่มีการปรับอากาศตลอดการขนส่งสินค้า
  3. Garment container ไว้ใช้ขนส่งสินค้าที่เป็นเสื้อผ้า โดยมีราวสำหรับแขวนเสื้อ
  4. Open top เป็นตู้ที่ไม่มีหลังคา สำหรับขนสินค้าขนาดใหญ่ที่ไม่สามารถขนเข้าทางประตูได้

ขนาดของตู้จะมี 2 ขนาดหลักๆ คือ 2.5 x 6 เมตร สูง 2.45 เมตร และ 2.5 x 12 เมตร สูง 2.45 เมตร โดยประมาณ ตู้ขนส่งสินค้าที่นิยมนำมาทำเป็นบ้านหรืออาคารส่วนใหญ่จะเป็นตู้แบบ Dry cargoes เพราะหาซื้อได้ง่าย มีลักษณะที่เหมาะสมและไม่ต้องดัดแปลงมาก ส่วนขนาดนั้นก็แล้วแต่ความต้องการของเจ้าของ แหล่งซื้อขายตู้ขนส่งสินค้าอาจหาได้ตามถนน บางนา-ตราด ตามท่าเรือขนส่งสินค้า

– ## โครงสร้างของตู้ขนส่งสินค้าเป็นอย่างไร แข็งแรงแค่ไหน

ตู้ขนส่งสินค้าเหล่านี้มีความแข็งแรงอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว ที่เห็นตามท่าเรือขนส่งสินค้าต่างๆ ที่จะต้องสามารถตั้งซ้อนขึ้นไปให้ได้นับ 10 ชั้น อาจแบ่งส่วนของโครงสร้างได้ดังนี้

  • เสา คาน ของตู้ขนส่งสินค้า

     โครงสร้างของตู้ขนส่งสินค้ามีลักษณะคล้ายโครงสร้างของบ้าน เพราะตู้มีส่วนของเสาที่จะอยู่ตามมุมของตู้ ระหว่างเสาก็จะมีเหล็กที่เชื่อมต่อกันคล้ายกับคานที่เชื่อมเสาคอนกรีตเข้าไว้ด้วยกัน

  • ผนังเหล็กของตู้เปรียบเสมือนกำแพงหนา

     นอกจากเสาและคานเหล็กของตู้ที่ช่วยรองรับน้ำหนักแล้ว ยังมีผนังเหล็กที่มีลักษณะพับไปมาช่วยเสริมให้ตู้แข็งแรงยิ่งขึ้น แต่ส่วนที่เป็นประตูนั้นจะไม่ได้มีการช่วยรับน้ำหนักแต่อย่างใด

  • พื้นและเพดานรับน้ำหนัก

     น้ำหนักต่างๆที่อยู่ในตู้จะถ่ายลงมาที่พื้นโดยตรง (ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าซื้อตู้เปล่ามา จะมีพื้นไม้ติดมาด้วยอยู่แล้ว) ถ่ายมาสู่โครงเคร่าเหล็กที่เชื่อมกับโครงสร้างหลักอีกที

– วางตู้บนพื้นดินเลยได้ไหม

การวางตู้บนพื้นดินเลยนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเท่าไรนัก เพราะด้วยน้ำหนักของตู้นั้นไม่น้อยเลย ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯที่มีความอ่อนตัวสูงด้วยแล้ว ยิ่งมีโอกาสที่ตัวตู้หรืออาคารอาจจะทรุดได้ อาจจะใช้เพียงเข็มคอนกรีตหกเหลี่ยมกลวงหรือเข็มรูปตัวไอ ยาว 6 เมตร กดลงไปด้วยรถแบ็กโฮหรือแรงงานคนรองรับก่อน แล้วทำฐานรากคอนกรีตยกขึ้น 50 เซนติเมตรเหนือพื้นดิน ก็จะปลอดภัยกว่า

– วางตู้ซ้อนกัน จะล้มคลืนลงมาหรือเปล่า

ตู้ขนส่งสินค้าเหล่านี้ถูกทำขึ้นมาเพื่อการซ้อนกันหลายๆชั้นอยู่แล้ว เพราะด้วยน้ำหนักของตัวตู้เองที่จะเป็นตัวช่วยกดน้ำหนักลงมาไม่ให้ตู้ล้มหรือพลิกได้ เพียงแต่ต้องมีการยึดเชื่อมระหว่างตู้ที่ซ้อนกันด้วยแผ่นเหล็ก กันการเคลื่อนของตู้ก็เพียงพอแล้ว

– ผนังเหล็กทั้งนั้น กันร้อนยังไงล่ะนี่

เราจำเป็นที่จะต้องใส่ฉนวนกันความร้อนที่ผนัง พื้น และเพดานในส่วนด้านในของตัวตู้ก่อน ฉนวนที่นิยมใช้กันอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ฉนวนกันความร้อนแบบแผ่น (โพลียูรีเทนโฟม) จะมีความหนาประมาณ 8 มิลลิเมตร วิธีนี้การทำงานอาจจะช้าแต่ราคาไม่แพง
  2. โฟมแบบพ่น วิธีนี้จะมีการพ่นจากด้านในของตู้ การทำงานรวดเร็ว แต่ราคาอาจจะสูงขึ้นกว่าแบบแรก

อีกทางหนึ่งที่ควรทำเพื่อป้องกันความร้อนก็คือการทำหลังคาซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง โดยการต่อโครงเหล็กกล่องหรือเหล็กกลมขึ้นไป อาจจะเป็นหลังคาเพิงหมาแหงน

– เจาะประตู หน้าต่าง ทำได้เยอะแค่ไหน

การเจาะช่องต่างๆต้องมีการเสริมเหล็ก (เป็นเหล็กรูปพรรณรูปตัว H หรือเหล็กกล่องก็ได้) บริเวณขอบทั้ง 4 ด้าน ของช่องที่เจาะเพื่อช่วยรับน้ำหนักแทนส่วนของผนังที่ถูกเจาะหายไป เหล็กเสริมเหล่านี้ก็คือส่วนของเสาเอ็นคานทับหลังของบ้านคอนกรีตนั่นเอง

Tip การเจาะช่องประตูหรือหน้าต่าง จำเป็นที่จะต้องใช้ช่างที่ชำนาญ เพราจะต้องใช้ไฟในการเจาะ โดยทั่วไปเวลาที่เราไปซื้อตู้ตามเหล่าที่มีการขายตู้ขนส่งสินค้าเก่านั้น จะมีช่างที่ทำหน้าที่ซ่อมบำรุงตู้เหล่านี้อยู่ ถ้าหากมีแบบคร่าวๆแล้วให้ช่างเหล่านั้นทำการเจาะเลยก็จะสะดวกและได้งานที่เรียบร้อยกว่าให้ช่างที่สร้างบ้านปกติมาทำแน่นอน