Nonthaburi House ออกแบบพื้นที่กึ่งกลางแจ้งในบ้านอย่างไร ให้ใช้ได้จริงในทุกสภาวะ ?


2019-09-04 22:55

จำนวนครั้งที่เปิดอ่าน : 130

อากาศร้อนๆ แบบนี้ หลายคนคงชอบใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากกว่าระเบียง พื้นที่กลางแจ้งและกึ่งกลางแจ้งใช่ไหมคะ เพราะไหนจะอากาศร้อนอบอ้าว ลมที่พัดพาแต่ความร้อน หรือแม้แต่แสงแดดเจิดจ้า ก็ดูเป็นบรรยากาศไม่เหมาะสมกับการนั่งพักผ่อนนอกบ้านซักเท่าไหร่

     แต่ที่ Nonthaburi House นั้น ได้มีการออกแบบส่วนต่อเติมบ้านหรือ Sport Pavilion โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศร้อน และยังมีต้นไม้น้อย – ใหญ่ อยู่เคียงข้างทุกการใช้งานอีกด้วย ส่วนแนวคิดการออกแบบจะเป็นอย่างไรนั้น มาติดตามกันค่ะ

เชื่อมต่อบ้าน ด้วยคอร์ทกลาง
     เนื่องจากบริเวณ Sport Pavilion เป็นส่วนต่อเติมจากบ้านเดิม การออกแบบโดยคำนึงถึงบ้านเดิมจึงเป็นส่วนสำคัญ คุณวราและคุณจิตตินันท์ จึงออกแบบให้ Sport Pavilion และส่วนบ้านเดิมมีการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างกัน ด้วยการมี Pool deck ยาวต่อเนื่องจนถึงคอร์ทกลางบ้านเดิม โดยความกว้างของ Deck จะมีเสมอเป็นแนวเดียวกันกับบ้านเดิมอีกด้วย ซึ่งทั้ง 2 ส่วนต่างเชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน และมีการใช้งานที่ทับซ้อน เชื่อมโยงถึงกัน

     ถึงแม้จะเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและคอร์ทกลาง แต่ระหว่างทางเดินนั้นก็มีต้นไม้ ดอกไม้ขึ้นแซมตลอดทาง เพราะนอกจากการทำสวนจะเป็นงานอดิเรกเจ้าของบ้านแล้ว ต้นไม้ ธรรมชาติยังช่วยให้เกิดสภาวะอยู่สบาย สร้างความสวยงามให้กับบ้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อคุณศรันย์มองออกไปนอกอาคารจะพบกับต้นไม้ พืชพันธ์นานาชนิด และเห็นพื้นที่สีเขียวที่เกิดจากความชื่นชอบของเขา

กลมกลืนกับธรรมชาติ

     ในพื้นที่ Sport Pavilion จะมีครบครันทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ ซาวน่า ห้องอาบน้ำ และห้องพักแม่บ้าน โดยความต้องการของเจ้าของบ้าน คือออกแบบให้สถาปัตยกรรมกลมกลืนกับสวนและธรรมชาติรอบข้าง สถาปนิกผู้ออกแบบจึงแก้ปัญหาโจทย์นี้ ด้วยการสร้างพื้นที่ให้เปิดกว้าง โล่ง โปร่ง และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติมากที่สุด โดยใช้โครงสร้างทรัสท์ ที่มี Span ยาว 12 เมตร และใช้เสาในโครงการเพียง 4 ต้นเท่านั้น เพื่อไม่ให้โครงสร้างรบกวนมุมมองจากภายนอก สามารถซึมซับบรรยากาศธรรมชาติ ได้รับลมพัดผ่านตลอดวัน ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถใช้ Sport Pavilion ได้ตลอด แม้จะอยู่ในฤดูร้อนก็ตาม

และยังเลือกใช้โครงสร้างและวัสดุ ที่สร้างความโล่ง โปร่ง ดูแลรักษาง่าย โดยทางสถาปนิกเลือกใช้เหล็กที่ให้ความรู้สึกเบา ลอย แต่แข็งแรง และใช้ไม้เทียมสร้างความอบอุ่น ผ่อนคลาย ซึ่งเข้ากันได้ดีกับแนวคิดของเจ้าของบ้านที่ให้ความสำคัญระหว่างสถาปัตยกรรมและธรรมชาติเท่ากัน

ออกแบบอย่างไร ให้ไม่ร้อน ?

     พื้นที่กึ่งกลางแจ้งอย่างนี้ จุดสำคัญอยู่ที่การวางทิศทางของตัวอาคารให้ตรงกับช่องลมหรือทิศทางที่ลมจะพัดผ่านตลอดวัน โดยในหน้าร้อนลมจะมาจากทางทิศใต้ ซึ่งเป็นลมที่ช่วยลดความร้อนในอากาศลงได้ แต่ถ้าไม่สามารถจัดวางอาคารให้สอดคล้องกับทิศทางลม ก็ควรออกแบบพื้นที่อาคารให้โล่ง โปร่ง ช่วยให้กระแสลมพัดผ่าน และเลือกใช้วัสดุสีอ่อน ไม่อมความร้อน ส่วนพื้นที่หลังคาควรติดฉนวนกันความร้อนและออกแบบชายหลังคาที่ไม่สั้นจนเกินไปนัก เพื่อป้องกันไอแดดและยังป้องกันฝนสาดเข้ามาในอาคารได้อีกด้วย

เป็นส่วนตัว แต่เปิดโล่ง

     Sport Pavilion จะเป็นพื้นที่เล็กๆ ในบ้าน ที่ทางผู้ออกแบบต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน ด้วยการแบ่งพื้นที่อย่างเป็นสัดส่วนระหว่าง Public Space และ Private Space โดย Public Space จะเปิดโล่งและมีระแนงไม้พรางตาจากภายนอก ส่วน Private Space นั้นใช้ผนังกั้นห้องแบ่งแยกสัดส่วนชัดเจน

     ซึ่งการเลือกใช้ระแนงไม้แทนการใช้ผนังปิดทึบทุกส่วน ก็เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความโปร่ง โล่ง เปิดรับมุมมองจากภายนอก มีลมพัดผ่านนั่นเอง และทางผู้ออกแบบยังนำประโยชน์จากระแนงไม้และสวนรอบข้างกั้นความเป็นส่วนตัวจากผู้คนภายนอก แต่ในทางกลับกันก็มีคอร์ทกลางบ้าน เพื่อเปิดรับทิวทัศน์จากภายใน มากไปกว่านั้นแสงธรรมชาติที่สาดส่องผ่านระแนงไม้ ยังทำให้เกิด Transition Space เล็กๆ ระหว่างสวนและ Sport Pavilion อีกด้วย

Sport Pavilion พื้นที่เล็กๆ สำหรับครอบครัว แต่การออกแบบและการคิดแบบโครงสร้างนั้นไม่เล็กตามขนาดพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงถึงพื้นที่ใช้สอย การเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่เดิมและส่วนต่อเติม หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับสวนและธรรมชาติที่ทางเจ้าของบ้านและสถาปนิกให้ความเห็นตรงกันว่าเป็นส่วนสำคัญของบ้านหลังนี้ ก็ล้วนประกอบขึ้นมาจากความชอบและความใส่ใจ เพื่อสร้างสรรค์ทุกพื้นที่ในบ้านให้เกิดความผ่อนคลาย ใช้งานได้จริง และอยู่สบายมากที่สุด …

ขอบคุณเนื้อหาดีๆจาก : dsignsomething